ชินภัทร วิสุทธิแพทย์
TAX TANK TV
กฎหมายไม่กั๊ก | คลังความรู้เกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจและภาษี

WWW.TAXTANKTV.COM



CASE STUDY


"ภาษีการให้"

1. ก่อนตาย...มี "ภาษีการให้"...อยู่ที่ว่า "อายุยืน" แค่ไหน !!!

กฎกระทรวงฉบับนี้...ออกมา (16 กุมภาพันธ์ 2559) พร้อมกับกฎกระทรวงของ "ภาษีการรับมรดก" เพื่อให้สอดคล้องกับ "ภาษีการให้" ที่ได้แก้ไขประมวลรัษฎากร โดยยกเว้นให้ "เฉพาะส่วน" และ "เฉพาะคน" เท่านั้น ต่างจากในอดีตที่ยกเว้นให้ทั้งหมด...เพียงแค่ "ให้โดยเสน่หา" ตามธรรมเนียมประเพณี หรือ หน้าที่ธรรมจรรยาก็ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว

ในอดีต...น้องชาย "ท่านผู้นำ" ถูกประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา...(หลังการ "จากไป" ของ "ท่านผู้นำ") และน้องชายฯ ต่อสู้ว่า "เงินจำนวนมาก" ได้รับจาก "พ่อค้า" ในวันตรุษจีน / วันครบรอบแต่งงาน / วันโกนผมให้บุตร / วันคล้ายวันเกิดภรรยา / วันคล้ายวันเกิดน้องชาย "ท่านผู้นำ"...(หากมีวันสำคัญวันไหน "พ่อค้า" เป็นต้องหาโอกาสไปมอบเงินให้เสมอ)

เหตุที่ต่อสู้ประเด็นนี้เพราะ...เพื่อจะอ้างว่าได้รับจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี (ซึ่งได้รับยกเว้นภาษี)

แต่...ศาลฎีกาตัดสินในปี 2520 ว่า...

"เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในวงพ่อค้าว่าน้องชายฯ เป็นคนมีอำนาจและอิทธิพลมากเพราะเป็นน้องชายของ "ท่านผู้นำ" / น้องชายฯ อาจช่วยเหลือหรือให้ผลประโยชน์แก่บรรดาพ่อค้าได้มาก...พ่อค้าที่นำเงินจำนวนมากไปให้ล้วนแต่เคยได้รับความช่วยเหลือจากน้องชายฯ และหวังผลประโยชน์ในทางใดทางหนึ่ง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม...จึง "ถือไม่ได้" ว่าเป็นการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี"...โดยสรุปคือศาลฎีกาตัดสินว่า...ไม่ได้รับยกเว้นภาษีจาก "เงินจำนวนมาก" เหล่านี้ และต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

กรณีนี้...หากนำมาใช้ในปัจจุบัน น่าจะมีการประเมินภาษีกันขนานใหญ่ และคดีแบบนี้น่าจะเกิดขึ้นทั่วประเทศไทย...โดยไม่ต้ององค์กรหรือหน่วยงานปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น...

ในอเมริกา ยุค "เจ้าพ่อชิคาโก" ครองเมือง คือ อัล คาโปน (Al Capone) รัฐไม่สามารถ "เอาผิด" หรือ "ลงโทษ" ในคดีอาญา ค้าเหล้าเถื่อน ค้าประเวณี ได้...เพราะ "พยานตายหมด" สุดท้ายรัฐบาลนำเรื่อง "การโกงภาษี" (Tax Fraud) มาใช้เล่นงาน อัล คาโปน...จนต้องรับโทษ "ติดคุก" อยู่ 11 ปี...เพราะตาม "หลักกฎหมายภาษี" แล้ว..."ทรัพย์นี้ท่านจะได้จากไหน (ผิดหรือถูกกฎหมาย) ต้องเสียภาษีทั้งสิ้น"...ในไทยเองศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเคยตัดสินในคดีที่เกียวข้องกับ "เงินได้" ที่ได้รับจากกิจกรรมผิดกฎหมายว่าต้องเสียภาษีในทำนองนี้เช่นกัน

2. "ภาษีการให้" ยกเว้นแบบมีข้อจำกัดอย่างไร

การแก้ไขประมวลรัษฎากรในส่วน "ภาษีการให้" เมื่อ 5 สิงหาคม 2558 และมีผลใช้บังคับเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2559 นั้น มีผลให้ยกเว้นภาษีการให้ "เฉพาะจำนวน" ไม่เกิน 20 ล้านบาท ต่อ คน (ผู้รับ) ต่อปีภาษี (นับตามปีปฏิทิน) ทั้งนี้ สำหรับผู้รับที่เป็น

(ก) บุพการี (กรณีลูกให้พ่อแม่)
(ข) คู่สมรส
(ค) ผู้สืบสันดาน (กรณีพ่อแม่ให้ลูก)

...ส่วนที่เกินกว่า 20 ล้านบาทต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 5...

หากผู้รับเป็น "คนอื่น" จะได้รับยกเว้นภาษีไม่เกิน 10 ล้านบาท ต่อคน (ผู้รับ) ต่อปี ส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 เช่น ปู่ให้หลาน / พี่ให้น้อง / ลุงให้หลาน / เพื่อนให้เพื่อน / คนสนิทให้คนที่สนิท (กว่า) !!!

โดยสรุปคือ หากผู้รับเป็น "บุคคลใกล้ชิด" จะได้รับยกเว้นภาษีมากกว่า...ทั้งนี้ ส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่ยกเว้นภาษีจะเสียภาษีในอัตราเท่ากัน (5%)...ทางออกสำหรับคนมีทรัพย์สินมาก คือ ทยอยให้ทรัพย์สินแก่ลูกหลานพี่น้องปีละไม่เกิน 20 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาทต่อคนต่อปี...หากมีทรัพย์สินมากแต่ "ผู้รับให้" น้อย อาจต้องให้กันเป็นหลายสิบปี...ทั้งนี้ เพื่อลดทรัพย์สินให้น้อยลง "ก่อนตาย" มิฉะนั้น ทรัพย์มรดกก็จะมากขึ้น และต้องไปเสียภาษีการรับมรดกมากขึ้น

กรณีนี้จะต่างจาก "ภาษีการรับมรดก" เพราะจะยกเว้นภาษีให้ในจำนวนเงินเท่ากัน (100 ล้านบาท)...ไม่ว่า "ผู้รับมรดก" จะเป็น "บุคคลใกล้ชิด" หรือ "คนอื่น" แต่ส่วนเกินกว่าที่ยกเว้นภาษีจะเก็บภาษีอัตราต่างกัน คือ ผู้รับมรดกเป็นบุพการี หรือ ผู้สืบสันดาน ได้รับมรดกเกินกว่า 100 ล้านบาทจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ขณะที่ผู้รับเป็น "คนอื่น" จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10

(หมายเหตุให้ชื่นใจด้วยว่า...หากผู้รับมรดกเป็น "คู่สมรส" กฎหมายภาษีการรับมรดกยกเว้นภาษีให้ทั้งหมดโดยไม่ได้จำกัดจำนวนเงินยกเว้นภาษีไว้... ดังนั้น คู่ไหนที่แต่งงานกันแล้ว "ไม่ได้จดทะเบียนสมรส" หรือ "จดแล้วหย่า" จึงควร "เปลี่ยนสถานะให้เป็นคู่สมรส" ด้วยการจดทะเบียนสมรส และสามารถ "ชะลอการเสียภาษีมรดก" ด้วยการยกทรัพย์มรดกให้คู่สมรสก่อนด้วยการทำ "พินัยกรรม" ก่อนที่ "คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่" จะยกทรัพย์มรดกให้แก่ลูกต่อไป...

แง่คิด คือ จะรู้ได้อย่างไรว่าคู่สมรสฝ่ายใดจะ "ตายก่อน"...ทางปฏิบัติ คือ การทำ "พินัยกรรมไขว้" ระหว่างคู่สมรส...เพื่อกำหนดเรื่องทรัพย์สิน และ กำหนดการเผื่อตาย (การทำพินัยกรรมไม่ใช่การแช่งให้ตาย)

3. มูลค่าของทรัพย์สินสำหรับ "ภาษีการให้" คำนวณอย่างไร

ณ ปัจจุบัน...ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะกำหนด "มูลค่าของทรัพย์สินที่ยกให้" เหมือน "ภาษีการรับมรดก" ว่าต้องใช้ "มูลค่า" ใดมาคำนวณภาษีการให้

เช่น ยก "ที่ดิน" ให้ลูก...จะใช้ "มูลค่าอะไร" คำนวณภาษีการให้...

เมื่อพิจารณากฎหมายที่มีอยู่แล้ว (มาตรา 49 ทวิ ประมวลรัษฎากร) ...พบว่า "ในกรณีที่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ โดยมีหรือไม่มีค่าตอบแทน ไม่ว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทร้พย์นั้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม ให้เจ้าพนักงานประเมินกำหนดราคาขายอสังหาริมทรัพย์นั้น โดยถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น"

กรณีนี้เป็นการ "กำหนดราคาขาย" เมื่อโอนอสังหาริมทรัพย์เพื่อจะเก็บภาษีจาก "ผู้โอน"...แต่ไม่ได้กำหนด "ฐานภาษี" หรือ "มูลค่าของทรัพย์สิน" ที่จะเก็บภาษีจาก "ผู้รับ" (การให้)

เช่น ยก "หุ้นบริษัท" ให้ลูก...จะใช้ "มูลค่าอะไร" คำนวณภาษีการให้

กรณี "หุ้น"...ไม่มีกฎหมายกำหนด "มูลค่าของหุ้น" ไว้ใน "ภาษีการให้" เหมือน "ภาษีการรับมรดก"...ตัวอย่างเช่น...ข้อหารือของกรมสรรพากรในเดือนธันวาคม 2558 (ตามภาพ)...วินิจฉัยโดยสรุปว่า...เมื่อพ่อโอนหุ้นแบบ "ยกให้" ลูกก่อน 1 กุมภาพันธ์ 2559...ลูกได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา...

สิ่งทีน่าสงสัยคือ หากลูกได้รับการ "ยกให้" หุ้นจากพ่อ หลังจาก 1 กุมภาพันธ์ 2559 แล้วจะนำ "มูลค่าอะไร" มาคำนวณมูลค่าหุ้นเพื่อเป็น "ฐานภาษี" ของหุ้นในการคำนวณ "ภาษีการให้"

หากนำ "หลักการตีความกฎหมาย" ในส่วน "บทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง" มาช่วยอธิบายการคำนวณมูลค่า "ฐานภาษีการให้" น่าจะมีกฎกระทรวงตาม "ภาษีการรับมรดก" ที่มีการกำหนดมูลค่าของหุ้นไว้ซึ่งนับได้ว่าเป็น "บทกฎหมายใกล้เคียง" คือ

(ก) หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ใช้มูลค่าหุ้นนั้นในเวลาปิดตลาด ณ วันที่ได้รับมรดก

(ข) หุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ใช้มูลค่าตามบัญชี (Book Value) ของหุ้นนั้นตามรอบระยะเวลาบัญชีก่อนปีที่ได้รับมรดก

นอกจากนี้ ยังมีประเด็น "น่าคิด" อีกว่า...ทรัพย์สินประเภทอื่นควรต้องเสีย "ภาษีการให้" ด้วยหรือไม่...เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดประเภททรัพย์สินการให้ไว้...ซึ่งต่างจาก "ภาษีการรับมรดก" ที่กฎหมายกำหนดชัดเจนว่า...ให้นำ "ทรัพย์มรดก" บางประเภทเท่านั้นมาเป็น "ฐานภาษีการรับมรดก" เช่น ที่ดิน หุ้น หลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เงินสดในธนาคาร ยานพาหนะ...ดังนั้น เมื่อ "ไม่มีกฎหมาย" กำหนดไว้ชัดเจน จึงต้องพิจารณาว่า...การยกให้ทรัพย์สินทุกประเภทต้องนำมาคำนวณเป็นฐานภาษีการให้ทั้งหมดในปีภาษีนั้น เช่น ที่ดิน หุ้น ทองคำแท่ง เงินสด (ให้ที่บ้าน) พระเครื่อง เครื่องเพชร ของโบราณ งานศิลปะ รถยนต์โบราณ เป็นต้น

ข้อสงสัยที่ตามมา คือ ผู้รับการให้ จะคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้รับการให้เพื่อเสียภาษีให้ถูกต้องอย่างไรในส่วนที่เกินกว่าที่ยกเว้นภาษีให้ทั้ง 2 กรณ่ คือ 20 ล้านบาทสำหรับ "คนใกล้ชิด" และ 10 ล้านบาทสำหรับ "คนอื่น"...

ปัจจุบัน มีกฎหมาย (มาตรา 9 ทวิ ประมวลรัษฎากร) กำหนดว่า..."เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าจะต้องตีราคาทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเป็นเงิน ให้ถือราคาหรือค่าอันพึงมีในวันที่ได้ทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้น"...แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยตอบคำถามข้างต้นนี้ได้อย่างชัดเจนว่า "ราคาหรือค่าอันพึงมี" คืออะไร...ใช่ "ราคาตลาด" หรือไม่

ประเด็นนี้ ผมว่าไม่ต้องรอนาน เพราะจะมีคำถามส่งไปยังกรมสรรพากรมากมายสำหรับประเด็นนี้...อดใจรอครับ คงได้เห็นใน Website กรมสรรพากรในปี 2559 แน่นอน





taxtanktv.com | แหล่งรวมความรู้เกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจและภาษี โดย ชินภัทร วิสุทธิแพทย์ | คำจำกัดสิทธิ | Chinapat Visuttipat
Facebook :TaxTank | Youtube : TAX TANK TV | รวมคำคม | รวมภาพชินภัทร | Contact Us : taxtanktv@gmail.com
March 2018 - Present (C) All Rights Reserved