ชินภัทร วิสุทธิแพทย์
TAX TANK TV
กฎหมายไม่กั๊ก | คลังความรู้เกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจและภาษี

WWW.TAXTANKTV.COM



บทความพิเศษ (3) ประจำเดือนสิงหาคม 2561

มูลค่าของทรัพย์สินสำหรับ "ภาษีการให้" คำนวณอย่างไร

ณ ปัจจุบัน...ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะกำหนด "มูลค่าของทรัพย์สินที่ยกให้" เหมือน "ภาษีการรับมรดก" ว่าต้องใช้ "มูลค่า" ใดมาคำนวณภาษีการให้

เช่น ยก "ที่ดิน" ให้ลูก...จะใช้ "มูลค่าอะไร" คำนวณภาษีการให้...

เมื่อพิจารณากฎหมายที่มีอยู่แล้ว (มาตรา 49 ทวิ ประมวลรัษฎากร) ...พบว่า "ในกรณีที่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ โดยมีหรือไม่มีค่าตอบแทน ไม่ว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทร้พย์นั้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม ให้เจ้าพนักงานประเมินกำหนดราคาขายอสังหาริมทรัพย์นั้น โดยถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น"

กรณีนี้เป็นการ "กำหนดราคาขาย" เมื่อโอนอสังหาริมทรัพย์เพื่อจะเก็บภาษีจาก "ผู้โอน"...แต่ไม่ได้กำหนด "ฐานภาษี" หรือ
"มูลค่าของทรัพย์สิน" ที่จะเก็บภาษีจาก "ผู้รับ" (การให้)

เช่น ยก "หุ้นบริษัท" ให้ลูก...จะใช้ "มูลค่าอะไร" คำนวณภาษีการให้

กรณี "หุ้น"...ไม่มีกฎหมายกำหนด "มูลค่าของหุ้น" ไว้ใน "ภาษีการให้" เหมือน "ภาษีการรับมรดก"...ตัวอย่างเช่น...ข้อหารือของกรมสรรพากรในเดือนธันวาคม 2558 (ตามภาพ)...วินิจฉัยโดยสรุปว่า...
เมื่อพ่อโอนหุ้นแบบ "ยกให้" ลูกก่อน 1 กุมภาพันธ์ 2559...ลูกได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา...

สิ่งทีน่าสงสัยคือ หากลูกได้รับการ "ยกให้" หุ้นจากพ่อ หลังจาก 1 กุมภาพันธ์ 2559 แล้วจะนำ "มูลค่าอะไร"
มาคำนวณมูลค่าหุ้นเพื่อเป็น "ฐานภาษี" ของหุ้นในการคำนวณ "ภาษีการให้"

หากนำ "หลักการตีความกฎหมาย" ในส่วน "บทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง" มาช่วยอธิบายการคำนวณมูลค่า "ฐานภาษีการให้"
น่าจะมีกฎกระทรวงตาม "ภาษีการรับมรดก" ที่มีการกำหนดมูลค่าของหุ้นไว้ซึ่งนับได้ว่าเป็น "บทกฎหมายใกล้เคียง" คือ

(ก) หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ใช้มูลค่าหุ้นนั้นในเวลาปิดตลาด ณ วันที่ได้รับมรดก

(ข) หุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ใช้มูลค่าตามบัญชี (Book Value) ของหุ้นนั้นตามรอบระยะเวลาบัญชีก่อนปีที่ได้รับมรดก

นอกจากนี้ ยังมีประเด็น "น่าคิด" อีกว่า...ทรัพย์สินประเภทอื่นควรต้องเสีย "ภาษีการให้" ด้วยหรือไม่...เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดประเภททรัพย์สินการให้ไว้...ซึ่งต่างจาก "ภาษีการรับมรดก" ที่กฎหมายกำหนดชัดเจนว่า
...ให้นำ "ทรัพย์มรดก" บางประเภทเท่านั้นมาเป็น "ฐานภาษีการรับมรดก" เช่น ที่ดิน หุ้น หลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เงินสดใน
ธนาคาร ยานพาหนะ...ดังนั้น เมื่อ "ไม่มีกฎหมาย" กำหนดไว้ชัดเจน จึงต้องพิจารณาว่า...การยกให้ทรัพย์สินทุกประเภทต้องนำมาคำนวณเป็นฐานภาษีการให้ทั้งหมดในปีภาษีนั้น เช่น ที่ดิน หุ้น ทองคำแท่ง
เงินสด (ให้ที่บ้าน) พระเครื่อง เครื่องเพชร ของโบราณ งานศิลปะ รถยนต์โบราณ เป็นต้น

ข้อสงสัยที่ตามมา คือ ผู้รับการให้ จะคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้รับการให้เพื่อเสียภาษีให้ถูกต้องอย่างไรในส่วนที่เกินกว่าที่
ยกเว้นภาษีให้ทั้ง 2 กรณี คือ 20 ล้านบาทสำหรับ "คนใกล้ชิด" และ 10 ล้านบาทสำหรับ "คนอื่น"...

ปัจจุบัน มีกฎหมาย (มาตรา 9 ทวิ ประมวลรัษฎากร) กำหนดว่า..."เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าจะต้องตีราคาทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเป็นเงิน ให้ถือราคาหรือค่าอันพึงมีในวันที่ได้ทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้น"...แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยตอบคำถามข้างต้นนี้ได้อย่างชัดเจนว่า
"ราคาหรือค่าอันพึงมี" คืออะไร...ใช่ "ราคาตลาด" หรือไม่

ประเด็นนี้ ผมว่าไม่ต้องรอนาน เพราะจะมีคำถามส่งไปยังกรมสรรพากรมากมายสำหรับประเด็นนี้...อดใจรอครับ คงได้เห็นใน
Website กรมสรรพากรในปี 2559 แน่นอน

จนถึงปัจจุบัน กรกฎาคม 2561 ยังไม่มี "ข้อหารือ" หรือ "กฎหมายเพิ่มเติม" อธิบายความกระจ่างที่ "ค้างคา" เหล่านี้
คงต้องรอกันต่อไปครับ





taxtanktv.com | แหล่งรวมความรู้เกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจและภาษี โดย ชินภัทร วิสุทธิแพทย์ | คำจำกัดสิทธิ | Chinapat Visuttipat
Facebook :TaxTank | Youtube : TAX TANK TV | รวมคำคม | รวมภาพชินภัทร | Contact Us : taxtanktv@gmail.com
March 2018 - Present (C) All Rights Reserved